ในบทความนี้ เรามี 5 วิธี ที่จะช่วยให้คุณได้ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานวิจัยให้ลดลงได้
“ความเครียด” เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่เพียงส่งผลต่อจิตใจ แต่ยังส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย ซึ่งอาการที่เป็นผลข้างเคียงของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป เช่น บางคนอาจปวดศีรษะ ไมเกรนกำเริบ บางคนท้อง อืดเฟ้อ บางคนหงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย บางคนถอนผม บางคนกัดหรือฉีกเล็บ บางคนนั่งเขย่าขาโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น
ในการทำงานวิจัยก็เช่นกัน ที่ส่งผลให้ผู้เรียนหรือผู้วิจัยเกิดความเครียดได้เสมอไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะผู้วิจัยหลายๆ ท่านที่งานในหน้าที่ประจำ หรือธุรกิจส่วนตัวที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ยิ่งจะทำให้ความเครียดเกิดขึ้นได้ง่ายมาก หากคุณมีอาการที่กล่าวไปข้างต้น นั่นเป็นสัญญาณเตือนให้คุณทราบว่าคุณมีอาการเครียดจากการทำงานได้เกิดขึ้นแล้ว
1. ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มฮอร์โมนความสุข
การออกกำลังกายจะช่วยระบายฮอร์โมนความเครียดออกไป การที่ร่างกายได้ขับเหงื่อออกมาหลังจากได้ออกกำลังกายจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาด้วย ทำให้ร่างกายและจิตใจสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
ฉะนั้นคุณควรแบ่งเวลาออกกำลังกายซักวันละ 10-15 นาที เพื่อให้เป็นการกระตุ้นฮอนโมนแห่งความสุขได้หลั่งออกมา อาจจะเป็นการออกกำลังกายเบาๆ ระหว่างทำงาน เช่น การเดินขึ้นลงบันได หรือทำงานบ้านในตอนเย็นหลังเลิกงาน หรือในวันหยุดก็ได้
2. พักผ่อนให้เพียงพอ
คุณต้องจัดตารางเวลาชีวิตในแต่ละวันให้ชัดเจน เพราะการกำหนดเวลาการทำงานในบทบาทหน้าที่ต่างๆ ในแต่ละวันได้อย่างชัดเจนนอกจากจะช่วยลดความเครียดได้แล้ว ยังทำให้คุณสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่รวมถึงมีเวลาให้กับครอบครัวคุณอีกด้วย
เช่น ใน 1 วัน คุณต้องทำงาน 8 ชม. คุณควรจัดเวลาในการศึกษาทำงานวิจัยประมาณวันละ 2-3 ชม. นอกจากนั้นก็เป็นเวลาพักผ่อน หรือกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาทักษะของคุณในด้านต่างๆ
3. พูดคุยกับคนรอบข้างหรือคนสนิท
หากการออกกำลังให้เหงื่อเพื่อกระตุ้นฮอร์โมนความสุข การพูดคุยกับคนสนิทหรือคนรอบข้างก็คือการระบายความเครียดที่ดีอีกวิธีหนึ่ง เพราะการที่ได้พูดสิ่งที่ไม่สบายใจ หรืออัดอั้นภายในใจออกมากับคนรอบข้างโดยเฉพาะคนที่คุณสนิท มันจะช่วยทำให้ความรู้สึกของคุณได้รับการปลอบประโลม
แม้พวกเขาเหล่านั้นไม่อาจที่จะช่วยคุณแก้ปัญหาได้ แต่การที่มีคนคอยรับฟังในสิ่งที่คุณอัดอั้นภายในใจ จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น สบายใจขึ้น และเมื่อใจสบาย สมองก็จะปลอดโปร่ง จะทำให้คุณสามารถคิดหาวิธีในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ต่อไป
4. เปิดรับความคิดเห็น เพื่อปรับทัศนคติ
หากมีปัญหาที่คุณแก้ไม่ได้ และรุ้สึกว่ามันทำให้คุณเครียดมากเกินไป คุณลองปรึกษาคนรอบข้างหรือคนสนิท เพื่อขอความคิดเห็นในมุมมองของพวกเขาเหล่านั้น เพราะมันจะทำให้คุณได้เห็นความคิดในแง่มุมต่างๆ ที่หลากหลาย ช่วยให้ทัศนคติที่คุณมีต่อการมองปัญหานั้นได้กว้างขึ้น
คุณไม่ควรที่จะต้องมานั่งเสียเวลาคิดวิตกกังวลไปคนเดียว ปัญหาในบางครั้งมันไม่ได้ใหญ่มากจนไม่มีทางแก้ แค่คุณยังมองไม่เห็นทางออก เพราะคุณเดินเข้าใกล้มันมากเกินไป ลองถอยออกมาซัก หนึ่ง หรือ สองก้าว ไม่แน่คุณอาจจะเห็นทางออกของปัญหาที่ไม่ได้มีแค่ทางออกเดียวก็เป็นได้
และอีกอย่างเราอยากให้คุณคิดในแง่ดีอย่างมีความหวังว่า ยังมีคนอีกมากมายที่เจอปัญหาเหมือนๆ กับคุณ พวกเขาเหล่านั้นสามารถผ่านปัญหานั้นๆ มาได้ แล้วทำไมคุณจะผ่านมันไปไม่ได้ล่ะ เขาทำได้ คุณก็ทำได้ จงบอกตัวเองไว้เสมอว่า “I can do it!”
5. ฝึกสมาธิเพื่อผ่อนคลายความเครียด
การฝึกสมาธิ โดยการฝึกการกำหนดลมหายใจเช่น การนั่งสมาธิ เล่นโยคะ หรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดสมาธิ จะช่วยทำให้สมองคลายความกังวล และระดับความเครียดลดลงได้
ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานวิจัย หรือการทำงานต่างๆ คุณควรจะจัดสรรเวลาให้สมดุล เพื่อให้คุณเองได้พักผ่อน ได้ออกไปพบปะคนรอบข้างหรือได้ทำกิจกรรมต่างๆ บ้าง เพื่อลดภาวะความเครียดที่เกิดจากการทำงานลงได้
อย่าลืมว่า “เราทุกคนไม่ใช่เครื่องจักร และขนาดเครื่องจักรก็ยังต้องหยุดพักเช่นกัน”
ช่องทางติดต่อ
Tel: 0924766638 คุณอาจุ้ย
อีเมล: ichalermlarp@gmail.com
LINE: @impressedu
(หยุดทุกวันอาทิตย์)