การเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ทำยากไหม มีขั้นตอนการทำอย่างไร

การเขียนเค้าโครงของวิทยานิพนธ์ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ผู้วิจัยจะต้องจัดทำขึ้น ถือเป็นเอกสารแสดงรายละเอียดของการวางแผนการทำวิทยานิพนธ์ที่ผู้วิจัยหรือนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวความคิด หรือแนวทางการทำวิทยานิพนธ์ตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากนั้นการเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ยังถือเป็นเอกสารที่ใช้สื่อระหว่างผู้ร่วมทำวิทยานิพนธ์ เพื่อให้เข้าใจกันในหลักการเดียวกัน และสามารถปฏิบัติตามได้ถูกต้อง ทำให้ผู้วิจัยสามารถติดตาม ควบคุม กำกับงาน และประเมินผลการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง โดยการเขียนเค้าโครงของวิทยานิพนธ์
ผู้วิจัยจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นจากการคิดหาประเด็นปัญหา หรือคำถามที่ตัวผู้วิจัยสนใจแล้วนำไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอความคิดเห็น ซึ่งในบทความนี้จะมีขั้นตอนสำหรับผู้วิจัยที่กำลังจะเริ่มเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์สามารถนำไปปฏิบัติตามได้ตามขั้นตอน ดังนี้

ภาพจาก pexels.com

1. ชื่อเรื่อง (Title)

การตั้งชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์จะต้องใช้คำที่กะทัดรัด ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ซึ่งผู้วิจัยจะต้องเขียนเป็นข้อความ คำนาม วลี ในชื่อเรื่อง เพื่อสะท้อนหรือชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาการวิจัย อาจกล่าวได้ว่าการตั้งชื่อเรื่องจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นปัญหาที่ต้องการหาคำตอบนั่นเอง ดังนั้นชื่อเรื่องควรมาจากสิ่งที่ผู้วิจัยสนใจหรือมีความชำนาญในเนื้อหาที่จะทำ แต่ก่อนเริ่มตั้งชื่อเรื่องเพื่อเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์นั้น จะต้องนำชื่อเรื่องที่สนใจไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาก่อน เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นคนที่บอกว่าชื่อเรื่องของผู้วิจัยเหมาะสมกับปริญญาที่ศึกษาหรือไม่ เมื่อชื่อเรื่องผ่านการพิจารณาจากอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้วิจัยจึงจะสามารถลงมือทำได้ เนื่องจากการตั้งชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์จะบ่งบอกให้ทราบถึงประเภทของการทำวิทยานิพนธ์ เช่น การวิจัยเชิงสำรวจ มักจะใช้คำว่าการสำรวจหรือการศึกษาเป็นคำขึ้นต้น และอาจจะระบุตัวแปรเลยก็ได้ ส่วนการวิจัยเชิงทดลอง มักจะใช้คำว่าการทดลอง การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การเปรียบเทียบนำหน้า เป็นต้น

2. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา (Background and Rationale)

ในส่วนของความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาเป็นการให้เหตุผลประกอบว่าทำไมเรื่องของเราจึงสมควรศึกษาวิจัย ซึ่งความเป็นมาควรจะชี้ให้เห็นว่าประเด็นปัญหาหรือข้อคำถามที่จะศึกษาหาคำตอบนั้นมีภูมิหลังหรือความเป็นมาอย่างไร ปัญหานั้นมีความสำคัญ และสมควรศึกษาหาคำตอบอย่างไร มีผู้เสนอแนวคิดหรือทฤษฏีสำหรับตอบปัญหานั้นหรือไม่ หรือมีประเด็นใดบ้างที่ยังไม่ชัดเจน หรือยังไม่มีคำตอบ เพื่อแสดงเหตุผลให้เห็นว่า เรื่องที่นำมาศึกษานี้สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในการหยิบยกประเด็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมา จนทำให้ผู้วิจัยสนใจ และตัดสินใจเลือกที่จะศึกษาเรื่องนี้

ภาพจาก pexels.com

3. วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objectives)

วัตถุประสงค์การวิจัยจะเป็นสิ่งที่วางเป้าหมายการทำงานไว้ล่วงหน้า ว่าผู้วิจัยจะดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนไปสู่จุดมุ่งหมายใด ซึ่งผู้วิจัยควรที่จะใช้ภาษาที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่วกวน และควรใช้เป็นประโยคบอกเล่ามากกว่าที่จะใช้เป็นประโยคคำถามหรือปฏิเสธ ซึ่งส่วนใหญ่จะขึันต้นด้วยคำว่า “เพื่อ…” โดยแต่ละข้อจะต้องมุ่งไปทิศทางเดียวกันในการสะท้อนปัญหา และตอบปัญหาการวิจัยในแต่ละแง่มุม 

4. คำถามของการวิจัย (Research Question) คำถามวิจัยที่ดีจะสามารถช่วยให้ผู้วิจัย กำหนดวัตถุประสงค์ สมมติฐาน และวิเคราะห์ตัวแปรเหล่านั้นออกมา เพื่อแก้ไขปัญหาได้ดี หากผู้วิจัยตั้งคำถามที่ไม่ชัดเจนจะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ตัวผู้วิจัยไม่มีความมั่นใจในศึกษาข้อมูลวิทยานิพนธ์ในครั้งนี้ นอกจากนั้นจะทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนและตั้งข้อสงสัยกับผู้จัดทำวิทยานิพนธ์ขณะอ่าน จึงอาจกล่าวได้ว่าการตั้งคำถามของการวิจัยนั้นจะต้อง เป็นคำถามที่มีความเหมาะสมหรือมีความสัมพันธ์กับเรื่องที่จะศึกษาด้วย

ภาพจาก pexels.com

5. ทฤษฏีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Review of Related Literatures)

การทบทวนวรรณกรรมเป็นการเขียนที่ได้มาจากการค้นคว้าจากเอกสารต่างๆ ทั้งทฤษฏี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ผู้วิจัยเล็งเห็นถึงปัญหา และแนวทางในการดำเนินการศึกษา ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นที่จะต้องจัดเรียงลำดับตามหัวข้อเนื้อเรื่องที่ไว้วางแผนไว้ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงพัฒนาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นจึงทำการสรุปให้เห็นถึงการสอดคล้อง และข้อขัดแย้ง ซึ่งการเขียนในส่วนนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการนำไปตั้งสมมติฐานด้วย

6. สมมติฐาน (Hypothesis) และกรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual Framework)

การตั้งสมมติฐานและกรอบแนวคิดในการวิจัย ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำวิทยานิพนธ์ เป็นการคาดเดาคาดคะเนอย่างมีเหตุผลตามแนวคิดทฤษฎี ทำหน้าที่เสมือนเป็นทิศทาง และแนวทางในการทำวิจัย ซึ่งสมมติฐานและกรอบแนวคิดในการวิจัยที่ดีจะต้องตอบคำถาม และวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้อย่างครบถ้วน

7. ขอบเขตของการวิจัย (Delimitation)

เป็นการระบุให้ทราบว่าการวิจัยมีขอบข่ายไปในทิศทางใด เพื่อป้องการการศึกษาไม่ครบถ้วน
ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องกำหนดขอบเขตของการวิจัยให้แน่นอน อาจจะกำหนดเรื่องให้แคบจากบทเรียนใดบทเรียนหนึ่งของสาขาวิชาที่ได้ศึกษาก็ได้ ซึ่งขอบเขตของการวิจัยที่สำคัญที่ผู้วิจัยต้องกำหนด ได้แก่ ลักษณะประชากรและจำนวนประชากร การเลือกสุ่มตัวอย่าง ขนาดกลุ่มตัวอย่าง และวิธีการเลือกสุ่มตัวอย่าง นอกจากนั้นยังควรมีตัวแปรที่ศึกษา โดยระบุทั้งตัวแปรอิสระและตัวแปรตามลงไปด้วย

8. การให้คำนิยามศัพท์ที่จะใช้ในการวิจัย (Operatonal Definition)

ในการวิจัยอาจมีตัวแปรหรือคำศัพท์เฉพาะต่างๆ ที่จำเป็นต้องให้คำจำกัดความอย่างชัดเจนที่ตรงกับเรื่องที่ผู้วิจัยศึกษา ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องมีคำนิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของผู้วิจัยที่สามารถสังเกตหรือวัดได้ ไม่อย่างนั้นแล้ว อาจมีการแปลความหมายไปในความหมายอื่นได้ ซึ่งประเภทของการเขียนนิยามศัพท์ มีดังนี้

  • คำนิยามศัพท์เฉพาะ เป็นคำที่ให้ความหมายคำศัพท์ที่ใช้ในการงานวิจัยให้มีความเฉพาะเจาะจงให้เข้ากับประเด็นที่เกี่ยงข้องกับการวิจัย เพื่อทำความเข้าใจความหมายให้ตรงกัน
  • การนิยามแบบทั่วไป เป็นการกำหนดความหมายโดยทั่วไปอย่างกว้างๆ อาจจะให้ความหมายตามทฤษฎี พจนานุกรม
  • การนิยามปฏิบัติการ เป็นนิยามศัพท์ที่สามารถเอาผลมาใช้ปฏิบัติได้จริง

9. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย (Expected Benefits and Application)

หัวข้อนี้จะอธิบายถึงประโยชน์ที่จะนำไปใช้ได้จริง ซึ่งผู้วิจัยควรที่จะระบุว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับนั้นจะเกิดกับใครเป็นสำคัญ ประเด็นนี้อาจนับได้ว่าเป็นประเด็นที่สำคัญของการเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ เพราะเป็นประเด็นที่ใช้ประเมินว่างานวิจัยเรื่องนี้จะมีผลอะไรที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ หรือมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด ถือเป็นหัวข้อที่สำคัญจะเป็นส่วนที่บ่งชี้ถึงความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องทำการวิจัยปัญหานั้นๆ

10. ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

ระเบียบวิธีวิจัยนั้นจะต้องประกอบไปด้วย วิธีวิจัย แหล่งข้อมูล ประชากรที่จะศึกษา วิธีการสุ่มตัวอย่าง วิธีการเก็บข้อมูล การประมวลผลข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งวิธีเหล่านี้จะเป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยในแต่ละขั้นว่าจะต้องทำอย่างไร

ภาพจาก pexels.com

11. ระยะเวลาในการดำเนินการ 

ผู้วิจัยจะต้องระบุถึงระยะเวลาที่จะใช้ในการดำเนินงานวิทยานิพนธ์ทั้งหมดว่าใช้เวลานานเท่าใด และต้องระบุระยะเวลาที่ใช้สำหรับแต่ละขั้นตอนของการทำวิทยานิพนธ์ โดยแสดงให้เห็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของโครงการ เช่น ระบุ วัน เดือน ปี ที่เริ่มทำและวันสิ้นสุด ถ้าหากเป็นโครงการระยะยาว และมีหลายช่วงระยะเวลาผู้วิจัยก็ควรที่จะระบุแต่ละช่วงเวลาให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน เพื่อใช้เป็นรายละเอียดประกอบการพิจารณา อนุมัติโครงการ

12. การอ้างอิง (Referrences)

การอ้างอิงถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเขียนโครงร่างวิทยานิพนธ์ ซึ่งผู้วิจัยจะต้องมีเอกสารอ้างอิงในเนื้อหาที่เข้าไปศึกษาเรื่องนั้นๆ ซึ่งรายการที่ใช้อ้างอิควรจัดทำในรูปแบบที่เป็นไปตามสากลนิยม โดยส่วนใหญ่นิยมใช้ การอ้างอิงแบบ APA Style หรือ Chicago Style ซึ่งการอ้างอิงแต่ละรูปแบบจะขั้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือสาขาวิชา ซึ่งผู้วิจัยสามารถค้นคว้า หรือหาข้อมูลวิธีการอ้างเพิ่มเติมได้ จากแหล่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตทั่วไป

จากรายละเอียดการเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์ที่กล่าวมาข้างต้น อาจมีข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมแล้วแต่รูปแบบของมหาวิทยาลัย เช่น งบประมาณ ประวัติผู้วิจัย หรือภาคผนวก ผู้วิจัยสามารถนำใส่ได้ตามสมควร ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านที่กำลังจะเริ่มเขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์

ช่องทางติดต่อ
Tel: 0924766638 คุณอาจุ้ย
อีเมล: ichalermlarp@gmail.com
LINE: @impressedu
(หยุดทุกวันอาทิตย์)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *